9. ทรัพยากรธรรมชาติ
9.1 น้ำ
องค์การบริหารส่วนตำบลกื้ดช้าง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำแตง ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอเวียงแหงไหลผ่านอำเภอเชียงดาว และเข้าสู่อำเภอแม่แตง โดยไหลผ่านเขตตำบลกื้ดช้าง รวมระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร ก่อนบรรจบลงแม่น้ำปิง บริเวณบ้านป่าจี้ หมู่ที่ 4 ตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง มีแหล่งน้ำ ลำห้วยสาขา หลายสาย โดยมีลำห้วยหลักสำคัญ และน้ำตก เช่น ลำห้วยแม่ตะมาน ลำห้วยน้ำหยาด ลำห้วยป่าหก ลำห้วยสถาน ลำห้วยแม่กอก ลำห้วยน้ำดัง นอกจากนั้นยังมีน้ำตกหลายแห่ง เช่น น้ำตกตาดผจี น้ำตกห้วยสถาน น้ำตกทุ่งละคร น้ำตกผาปู่จอม น้ำตกแม่แจ๋ม น้ำตกห้วยหก เป็นต้น
แม่น้ำ องค์การบริหารส่วนตำบลกื้ดช้าง มีลำน้ำสำคัญ 1 สายคือ ลำน้ำแม่แตง มีต้นน้ำอยู่อำเภอเชียงดาว ไหลผ่านจากเหนือลงสู่ด้านใต้ไหลผ่าน บ้านป่าข้าวหลาม หมู่7 ,บ้านสบก่าย หมู่3 ,บ้านเมืองกื้ด หมู่1และบ้านแม่ตะมาน หมู่2
หนองน้ำ อ่างเก็บน้ำ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่
1.หนองบัว บ้านเมืองกื้ด หมู่ 1
2.หนองอ้อ บ้านเมืองกื้ด หมู่ 1
3.หนองยาว บ้านเมืองกื้ด หมู่ 1
4.อ่างเก็บน้ำฮู บ้านแม่ตะมาน หมู่2
5.อ่างเก็บน้ำดง บ้านแม่ตะมาน หมู่2
6.อ่างเก็บน้ำหมู่บ้านห้วยน้ำดัง หมู่5
7. บาดาลผิวดินขนาดใหญ่ 2 แห่ง บ้านแม่ตะมาน หมู่ 2 และบ้านเมืองกื้ด หมู่ 1
9.2 ป่าไม้ ลักษณะป่าและต้นไม้ ในเขตตำบลกื้ดช้าง
ตำบลกื้ดช้างมีพื้นที่ป่าไม้ แบ่งได้ดังนี้
1) เขตการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและที่ดินป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
- เขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (โซน C) มีเนื้อที่ประมาณ 167,709 ไร่
- เขตป่าไม้เศรษฐกิจ (โซน E) มีเนื้อที่ประมาณ 7,475 ไร่ โดยเป็นพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม 7,404 ไร่
2) เขตพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ (อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง) มีเนื้อที่ประมาณ 78,133 ไร่ โดยมีพื้นที่บางส่วนซ้อนทับกับเขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (โซน C) และป่าไม้เศรษฐกิจ (โซน E)
3) เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่เลา-แม่แสะ) มีเนื้อที่ประมาณ 1,323 ไร่ โดยมีพื้นที่บางส่วนซ้อนทับกับเขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (โซน C)
ทรัพยากรที่พบในเขตป่าไม้
1.ป่าสงวนแห่งชาติแม่แตง เขตพื้นที่บ้านเมืองกื้ด หมู่1 บ้านแม่ตะมาน หมู่2 บ้านต้นขาม หมู่4 บ้านทุ่งละคร หมู่6 บ้านสบก๋าย หมู่ 3 บางส่วน บ้านผาปู่จอม หมู่ 8
- ป่าเบญจพรรณ พบกระจายตัวเป็นพื้นที่กว้างที่ระดับความสูง มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ แคหัวหมู แดง ประดู่ มะเกลือ มะกอก ชิงชัน โมก สัก เต็ง เหียง พลวง รัง รกฟ้า พะยอม ตีนนก ติ้วขน สมอไทย มะขามป้อม ไม้ตะเคียน ฯลฯ ไม้พุ่มและพืชพื้นล่างได้แก่ คนทา คัดเค้าเครือ ผักแว่น สะบ้าลิง สาบเสือ บุก ลิเภา ชายผ้าสีดา เกล็ดปลา หญ้าขัด และพ่อค้าตีเมีย
- สัตว์ป่า ได้แก่ ช้างป่า กวางป่า เก้ง หมูป่า ลิงวอก พังพอน ไก่ป่า ไก่ฟ้าหางลายขวาง เต่าปูลู ตะกวด งูเหลือม งูเห่า เป็นต้น ในบริเวณแม่น้ำและลำห้วยต่างๆ พบปลาจาด ปลามอน ปลาเลียหิน ปลาติดหิน และปลาก้าง เป็นต้น
2.อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง เขตพื้นที่บ้านห้วยน้ำดัง หมู่ 5 บ้านสบก๋าย หมู่ 3 บ้านป่าข้าวหลาม หมู่ 7
- ป่าดิบชื้นป่าดิบชื้น ขึ้นปกคลุมสองฝั่งของลำน้ำในพื้นที่ที่มีความสูง 500-800 เมตร จากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เติม อวบดำ หว้า งิ้วป่า ปอตูบหูช้าง ผ่าเสี้ยน มันปลา เปล้าใหญ่ ฯลฯ ไม้พุ่มและพืชพื้นล่างได้แก่ เอื้องหมายนา มันดง ม้าสามต๋อน เฒ่าหลังลาย หญ้าถอดบ้อง ตองกง เครือออน กลอย สายหยุด และ เล็บเหยี่ยว เป็นต้น
- ป่าดิบเขา พบในพื้นที่ทีเป็นหุบเขาและพื้นที่ลาดชันที่สภาพอากาศมีความชื้นค่อนข้างสูงตลอดปี ในระดับความสูง 1,650-1,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ ก่อกระดุม ก่อแดง สนสามใบ เม็ดชุนตัวผู้ มะมือ จำปีหลวง มณฑาป่า เหมือดดง เดื่อปล้องหิน ตะไคร้ต้น สารภีป่า กำลังเสือโคร่ง กะทัง ฯลฯ ไม้พุ่มและพืชพื้นล่าง ได้แก่ กล้วย ต่างไก่ป่า พลูช้าง พญาดง หญ้าคมบาง ตองกง พริกไทย ดาดตะกั่ว และกาหลา เป็นต้น
- ป่าเบญจพรรณ พบกระจายตัวเป็นพื้นที่กว้างที่ระดับความสูงต่ำกว่า 900 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ กาสามปีก กุ๊ก แคหัวหมู แดง ตะคร้ำ ประดู่ มะเกลือ มะกอก ตังหน ชิงชัน โมก ฯลฯ ไม้พุ่มและพืชพื้นล่างได้แก่ คนทา คัดเค้าเครือ เฒ่าหลังลาย เต่าร้าง ผักแว่น สะบ้าลิง สาบเสือ บุก ลิเภา ชายผ้าสีดา เกล็ดปลา หญ้าขัด และพ่อค้าตีเมีย เป็นต้น ป่าเต็งรัง พบโดยทั่วไปในพื้นที่ที่ระดับความสูงต่ำกว่า 800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ชนิดไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง เหียง พลวง รัง รกฟ้า พะยอม ตีนนก ติ้วขน สมอไทย ส้านใหญ่ มะขามป้อม ฯลฯ ไม้พุ่มและไม้พื้นล่าง ได้แก่ กะตังใบ โสมชบา กระมอบ หนาดคำ ตาฉี่เคย เป็นต้น
สัตว์ป่านานาชนิด ได้แก่ ช้างป่า กวางป่า หมีควาย เก้ง กระจงเล็ก เลียงผา หมูป่า แมวดาว ชะมดเช็ด ลิงวอก ชะนีมือขาว พังพอน เม่นใหญ่ ไก่ป่า ไก่ฟ้าสีเงิน นกเขาเปล้า นกขุนทอง นกขมิ้นท้ายทอยดำ นกปรอดคอลาย เหยี่ยวต่างสี กะท่าง เต่าปูลู เต่าใบไม้ แย้ ตะกวด งูเหลือม งูเขียวดอกหมาก งูเห่า กบทูด ปาด เขียดป่าไผ่ และอึ่งลาย เป็นต้น ในบริเวณแม่น้ำและลำห้วยต่างๆ พบปลาจาด ปลามอน ปลาเลียหิน ปลาเวียน ปลาค้อ ปลาค้างคาว ปลาติดหิน และปลาก้าง เป็นต้น
3.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตพื้นที่บ้านป่าข้าวหลาม หมู่ 7 บางส่วน และเขตบ้านสบก๋าย หมู่ที่ 3 บางส่วน สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ความสูงจากระดับน้ำทะเล 700 เมตร พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าแม่เลา-แม่แสะ เป็นพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่า
- สัตว์ป่าสงวน 2 ชนิด คือ กวางผาและเลียงผา
- สำหรับสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ที่สำรวจพบ คือ กวางป่า อีเก้งหรือฟาน หมีหมา ลิงวอก นกแซงแซวหางปลา นกกระรางคอดำ
9.3 ภูเขา
ตำบลกื้ดช้างมีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูง มีที่ราบหุบเขาและที่ราบเชิงเขาเป็นส่วนน้อย ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน มีสันเขาเป็นแนวแบ่งเขตตำบลและหมู่บ้าน จุดสูงสุดของตำบลอยู่ที่อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง บริเวณยอดดอยผาสามเหลี่ยม ความสูง 1,690 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
9.4 ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญขององค์การบริหารส่วนตำบลกื้ดช้าง
“องค์การบริหารส่วนตำบลกื้ดช้าง” เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดําริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ. “งานฐานทรัพยากรท้องถิ่น” โดยมีลำดับสมาชิกของตำบลกื้ดช้าง ที่ 8 – 6500605 ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา การนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล วัด ชมรมผู้ประกอบการ ในตำบลกื้ดช้าง ได้ประสานกำลังกาย กำลังใจร่วมกันในการดำเนินกิจกรรมสนองพระราชดำริในโครงการ อพ.สธ.-อบต.กื้ดช้าง ดำเนินกิจกรรมตามศักยภาพความพร้อม และจัดตั้ง “ศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่นตำบลกื้ดช้าง” เพื่อเป็นฐานทรัพยากรในการพึ่งตนเองสู่เศรษฐกิจพอเพียง เกิดประโยชน์แท้แก่ชุมชนตำบลกื้ดช้าง และประเทศชาติต่อไปในอนาคต โดย อบต.กื้ดช้าง ดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ในกรอบกิจกรรมที่ 8 กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร ในห้วงเวลานับแต่ อบต.กื้ดช้าง เข้าร่วมโครงการฯ ได้ดำเนินกิจกรรม ภายใต้กรอบการดำเนินงานทั้ง 3 กรอบ โดยปัจจุบันกำหนดพื้นที่แปลงปกปัก จำนวน 6 แปลง ประกอบด้วยแปลงที่ 1 (สันบนบ้านแม่ตะมาน) แปลงที่ 2 (สันกื้ดฝั่งบ้านเมืองกื้ด) แปลงที่ 3 (ป่าชุมชนห้วยกุ๊บกั๊บ) แปลงที่ 4 (ป่าชุมชนห้วยป่าหก) แปลงที่ 5 (ป่าแนวกันไฟบ้านป่าข้าวหลาม ร่วมกับอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง) และแปลงที่ 6 (ป่าชุมชนบ้านผาปู่จอม) และอยู่ระหว่างขยายไปยังป่าชุมชนบ้านอื่นๆ ต่อไป
โดยองค์การบริหารส่วนตำบลกื้ดช้าง ดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ใน “กิจกรรมที่ 8 กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร” ในงาน “ฐานทรัพยากรท้องถิ่น” ในปีงบประมาณ 2558 เข้ารับการประเมินเพื่อพิจารณาขอรับป้ายสนองพระราชดำริในงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ในวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ผ่านเกณฑ์การประเมิน ตามหนังสือโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ที่ พว 0001(อพ) 1523/2559 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 และเตรียมเอกสาร หลักฐาน เข้าร่วมการจัดนิทรรศการ ในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ “ทรัพยากรไทย : หวนดูทรัพย์สิ่งสินตน” วันที่ 23 มีนาคม 2559 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
ปัจจุบันเป็นหน่วยงานสนับสนุนการให้ความรู้งานฐานทรัพยากรท้องถิ่น โดยใช้ “ศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่นตำบลกื้ดช้าง” เป็นแหล่งเรียนรู้ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอาคาร “ศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่น สนองพระราชดำริโดย กรมชลประทาน และองค์การบริหารส่วนตำบลกื้ดช้าง” โดยได้ดำเนินการรวบรวมเก็บสำรวจข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่น และจัดทำเป็นโครงสร้างทรัพยากรท้องถิ่น 3 ฐาน คือ ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมภูมิปัญญา และจัดทำทะเบียนทรัพยากรท้องถิ่นไว้ ดังนี้
1. ทะเบียนทรัพยากรในพื้นที่ปกปัก จำนวน 6 แปลง ประกอบด้วย
1) ทะเบียนพรรณไม้ในพื้นที่ปกปักทรัพยากรท้องถิ่น
2) ทะเบียนพันธุ์สัตว์ในพื้นที่ปกปักทรัพยากรท้องถิ่น
3) ทะเบียนชีวภาพอื่นในพื้นที่ปกปักทรัพยากรท้องถิ่น
4) ทะเบียนภูมิปัญญาในพื้นที่ปกปักทรัพยากรท้องถิ่น
5) ทะเบียนทรัพยากรในพื้นที่ปกปักทรัพยากรท้องถิ่น
6) ทะเบียนโบราณคดีในพื้นที่ปกปักทรัพยากรท้องถิ่น
2. ทะเบียนทรัพยากรในชุมชน จำนวน 6 หมู่บ้าน ประกอบด้วย
1) ทะเบียนพรรณไม้ในชุมชน | 2) ทะเบียนพันธุ์สัตว์ในชุมชน |
3) ทะเบียนชีวภาพอื่นชุมชน | 4) ทะเบียนภูมิปัญญาในชุมชน |
5) ทะเบียนทรัพยากรในชุมชน | 6) ทะเบียนโบราณคดีในชุมชน |
ทรัพยากรพรรณไม้เด่น : สมุนไพรและไผ่ เช่น ไผ่จืด หญ้าหวาน ปูเลย ดอกดิน หนอนตายอยาก เกล็ดปลาช่อน ว่านสากเหล็ก ตีนฮุ้งดอย มะกิ้ง ว่าน และพืชตระกูลขิงข่า ฯลฯ และไม้ไผ่
ทรัพยากรสัตว์เด่น : ช้าง ปลาแม่น้ำแตง ไก่ดำ หมูดำ ควาย
ทรัพยากรวัฒนธรรมภูมิปัญญาเด่น : ชาไผ่จืด ลูกประคบ สมุนไพรแช่มือแช่เท้า สมุนไพรยาฮม ยามัดต้ม เครื่องจักสาน ผ้าปัก ผ้าทอมือ สมุนไพรยาช้าง
ทรัพยากรเด่น : จุดชมวิวบนยอดเขา ป่าชุมชน ลำน้ำแม่แตง น้ำตก ลำห้วย กื้ด หินหลวงลำน้ำแม่แตง
โบราณคดีเด่น : วัดเมืองกื้ด วิหารโบราณอายุ 400 ปี พระธาตุม่อนจอมธรรม รอยพระหัตถ์และพระบาทจำลอง ดาบโบราณในชุมชน เป็นต้น
|